บริการวิชาการและสังคม

ความสัมพันธ์กับชุมชน


(University Social Responsibility — USR)

งานบริการชุมชนและสังคม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของคณะรัฐศาสตร์ที่เน้นเรื่องการให้บริการวิชาการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคม คณะรัฐศาสตร์ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารคณะรัฐศาสตร์ด้านกิจการนิสิตและด้านบริการชุมชนและสังคม เพื่อวางนโยบายและแผนงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนิสิตให้สอดคล้องกับนโยบายของ คณะรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ให้รวมถึงพัฒนาศักยภาพนิสิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและ บัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกิจกรรมทางวิชาการกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมการบริการชุมชนและสังคม ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตของคณะรัฐศาสตร์ รวมทั้งกำหนดแนวทางการบริหารการเงินและการงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโครงการต่างๆ ของนิสิต

จากวิสัยทัศน์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2555-2570 ที่ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน เป็นผู้นำทางปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และจากการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 739 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ได้กำหนดภาพอนาคตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะ 15 ปี (2555-2570) ไว้ โดยส่วนหนึ่งให้ความสำคัญในจัดทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก มีส่วนร่วมในการสนับสนุนชุมชน พัฒนานโยบายสาธารณะและเป็นพันธมิตรทางวิชาการกับองค์กรธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นองค์กรแห่งปัญญาที่ช่วยชี้นำการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรตัวอย่างในด้านธรรมาภิบาล ธำรงไว้ซึ่งนิติธรรมและจริยธรรมทั้งด้านวิชาการและการบริหารองค์กร มีระบบบริหารจัดการองค์กรแบบองค์กรสมรรถนะสูง และเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่องค์การอื่น

ด้วยปัจจัยข้างต้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยงานบริการชุมชนและสังคม (University Social Responsibility) หรือ USR ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมพลังของบุคลากร 4 ฝ่าย คือ คณาจารย์ นิสิต ศิษย์เก่า บุคลากร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและมีจิตสำนักรับผิดชอบต่อสังคมก่อตั้งขึ้นเมื่อปีปลายปี 2556 โดยดำริของ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสมัยนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2555-2559) ด้านที่ 5 คือ “เกื้อกูล” เพื่อให้ยุทธศาสตร์ มีความเป็นรูปธรรมนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน มีตัวชี้วัด ตลอดจนมีระบบการติดตามผลการดำเนินงาน ดังนั้นการดำเนินโครงการต่างๆ ของ USR จึงเป็นการพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ปลูกจิตสำนึกให้บุคลากรในมหาวิทยาลัย แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านหลักสูตรการศึกษา ถือเป็นการให้บริการทางวิชาการต่อสังคมโดยไม่มุ่งหวังสิ่งที่เป็นตัวเงินหรือผลตอบแทน ปัจจุบันหน่วยงาน USR ขึ้นตรงต่อฝ่ายวิชาการ โดยมีรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานกิจการนิสิตของคณะรัฐศาสตร์

วัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของบุคคลากรและนิสิตในด้านการนำความรู้ความสามารถไปประยุกต์ใช้บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ได้เรียนรู้การเสียสละ การทำงานจิตอาสา และการให้บริการการวิชาการต่อสังคมโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน