เกี่ยวกับคณะ

ประวัติคณะ


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ขึ้น โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน” โดยรับสมัครนักเรียนที่สอบผ่าน “ประโยคนักเรียน” มาแล้ว เข้าศึกษา “ประโยควิชา” ต่อ เมื่อเรียนจบ “ประโยควิชา” แล้วจึงจะได้รับประกาศนียบัตรของโรงเรียน แล้วต้องออกฝึกราชการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อสอบ “ประโยคฝึกหัด” ในขั้นสุดท้ายจึงจะถือว่านักเรียนผู้นั้นสำเร็จวิชาจากสถานศึกษาข้าราชการพลเรือนโดยสมบูรณ์ โรงเรียนดังกล่าวนี้ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาจึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีตำแหน่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิดและเข้าที่สมาคมในราชการให้มีความคุ้นเคยอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2445 (ร.ศ.121) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า นักเรียนโรงเรียนนี้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กทั้งสิ้น และตามประเพณีอันมีมาแต่โบราณข้าราชการ โดยมากยอมถวายตัวศึกษาราชการในกรมมหาดเล็กก่อนที่จะไปรับราชการในกรมอื่น จึงควรให้มีนามโรงเรียนสมแก่นักเรียนที่ได้เป็นมหาดเล็ก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าการที่จะฝึกนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กให้ออกมารับราชการในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวนั้น ไม่เพียงพอควรที่จะขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อส่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และเพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้เป็นทุนสำหรับจัดการโรงเรียนต่อไป และทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนพระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หนึ่งปีต่อมา ในวันที่ 26 มีนาคม 2459 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเมื่อแรกตั้งได้ แบ่งออกเป็น 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ส่วนในด้านการศึกษายังเป็นไปในรูปเดิม นอกจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาโรงเรียนซึ่งแต่เดิมเรียกชื่อว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ได้เปลี่ยนมาใช้นามว่า คณบดี หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ความนิยมในการเข้าศึกษาในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้ลดน้อยลง ในปีพ.ศ. 2472 มีนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่เพียง 35 คน เท่านั้น เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรออกไปนั้น เมื่อเข้ารับราชการจะได้ตำแหน่งเพียงชั้นราชบุรุษเท่านั้น ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 5 ก็มีสิทธิสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งนี้ได้แล้ว ส่วนนักเรียนที่ศึกษาจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นอกจากจะสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาแล้ว ยังต้องศึกษาในคณะนี้อีกถึง 3 ปี ดังนั้น กระทรวงธรรมการจึงได้นำความทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตให้เลิกคณะนี้เสีย เมื่อนักเรียนที่เหลืออยู่สำเร็จหมดแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระบรมราชานุญาต

เมื่อกระทรวงธรรมการได้สั่งปฏิบัติการตามกระแสพระบรมราชโองการแล้ว ต่อมามีสมุหเทศาภิบาลและข้าราชการฝ่ายปกครองจำนวนมากมาร้องทุกข์ ว่าควรจะมีการสอนวิชานี้ กระทรวงมหาดไทยก็เห็นว่าจะขาดประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าขาดนักปกครองที่ผลิตจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จึงได้มีการประชุมพิจารณาระหว่างคณะกรรมการดำริรูปการมหาวิทยาลัย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยและผู้แทน ก.ร.พ. (กรรมการพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน) ที่ประชุมมีความเห็นพร้องกันว่าควรจะมีการสอนวิชานี้ต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาเสียใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีการรับนิสิตด้วย นอกจากนั้นได้เสนอความคิดเห็นให้เปลี่ยนชื่อคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชานุญาตตามข้อเสนอ และให้ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าแผนกคือ ผู้อำนวยการ ซึ่งมีฐานะเท่ากับคณบดี

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโอนโรงเรียนกฎหมายเข้าสมทบในคณะนิติศาสตร์ด้วยในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า “ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านี้มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ ก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477” คณะรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงถูกยุบไปช่วงหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารประเทศในอันที่จะได้ปฏิบัติราชการที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในการปกครองและการบริหารให้มีจำนวนเพียงพอ จึงได้จัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 18 สิงหาคม 2491 หลังจากที่ได้ยุบเลิกไปเป็นเวลาถึง 15 ปีเศษ คณะรัฐศาสตร์ได้กลับมาผลิตบัณฑิต เพื่อรับใช้สังคมอีกครั้ง จนถึงทุกวันนี้